โลกของเรา เป็นดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่ในปัจจุบันนั้น โลกของเรากำลังอุ่นขึ้น เห็นได้จากน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ เช่น กรีนแลนด์ และขั้วโลกใต้ เช่น แอนตาร์กติกา ละลายเร็วขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไป ก๊าซเรือนกระจกมีทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แล้วก๊าซเรือนกระจกคืออะไร? วันนี้เรามีคำตอบให้คุณ
Greenhouse Gas (GHG) หรือ ก๊าซเรือนกระจก คืออะไร ?
Greenhouse Gas (GHG) หรือที่เรียกกันว่า ก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของโลก GHG ทำหน้าที่เสมือนอนผ้าห่มที่ช่วยกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในชั้นบรรยากาศ เพื่อรักษาความสมดุลของอุณหภูมิ ก๊าซเหล่านี้สามารถดูดซับและปล่อยรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้โลกไม่ร้อนจัดในเวลากลางวันหรือเย็นจัดในเวลากลางคืน กระบวนการนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Gas Effect)

ก๊าซเรือนกระจกหลักๆ หรือ Greenhouse Gas มีอะไรบ้าง ?
คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide – CO₂)
- แหล่งกำเนิด:
- การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ)
- โรงงานอุตสาหกรรม
- การตัดไม้ทำลายป่า (เพราะต้นไม้ช่วยดูด CO₂)
- การเผาขยะ/วัสดุอินทรีย์
- คุณสมบัติ:
- อยู่ในอากาศนาน 100–1,000 ปี
- คิดเป็นก๊าซเรือนกระจกประมาณ 75% ของทั้งหมด
- เป็นก๊าซที่มนุษย์ปล่อยออกมามากที่สุด
- ผลกระทบ:
- ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ
- เป็นตัวหลักที่ทำให้เกิด ภาวะโลกร้อน
มีเทน (Methane – CH₄)
- แหล่งกำเนิด:
- การย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว
- นาข้าว (การหมักของอินทรียวัตถุใต้น้ำ)
- การสลายตัวของขยะอินทรีย์ในหลุมฝังกลบ
- การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ
- คุณสมบัติ:
- อยู่ในบรรยากาศประมาณ 12 ปี
- มีศักยภาพเรือนกระจก (GWP) มากกว่า CO₂ ประมาณ 25 เท่า
- ผลกระทบ:
- ทำให้โลกอุ่นเร็วขึ้นในช่วงเวลาสั้น
- มีผลต่อโอโซนชั้นล่าง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศ
ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide – N₂O)
- แหล่งกำเนิด:
- ปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการเกษตร (โดยเฉพาะในดินชื้น)
- การเผาชีวมวล เช่น ฟางข้าว กิ่งไม้
- อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การผลิตไนลอน
- คุณสมบัติ:
- อยู่ในอากาศได้ 114 ปี โดยเฉลี่ย
- มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่า CO₂ ถึง 298 เท่า
- ผลกระทบ:
- ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ
- มีผลกระทบต่อทั้งโลกร้อนและสุขภาพของมนุษย์
ก๊าซฟลูออริเนต (Fluorinated Gases)
- กลุ่มหลัก:
- HFCs (Hydrofluorocarbons): ใช้ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น
- PFCs (Perfluorocarbons): จากอุตสาหกรรมชิพและเซมิคอนดักเตอร์
- SF₆ (Sulfur hexafluoride): ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า เป็นฉนวนในหม้อแปลงไฟฟ้า
- NF₃ (Nitrogen trifluoride): ใช้ในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์
- คุณสมบัติ:
- ศักยภาพเรือนกระจก สูงมาก:
- HFCs ~ 1,000 เท่า
- PFCs ~ 6,500–9,000 เท่า
- SF₆ สูงสุดถึง 23,500 เท่า
- อยู่ในอากาศได้ หลายร้อยถึงพันปี
- ผลกระทบ:
- แม้จะมีปริมาณน้อย แต่มีผลกระทบสูงมาก
- ส่วนใหญ่เกิดจากอุตสาหกรรมและไม่สามารถย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ
แม้จะมีปริมาณในบรรยากาศน้อย แต่พลังในการกักเก็บความร้อนสูงมาก (บางชนิดมากกว่า CO₂ หลายพันเท่า!) และอยู่ในอากาศนานหลายพันปี
สรุปเทียบพลังเรือนกระจก (Global Warming Potential – GWP) แบบง่ายๆ
ก๊าซ | สัดส่วนในบรรยากาศ | GWP* (เทียบกับ CO₂) | อายุในอากาศ | แหล่งกำเนิดหลัก |
CO₂ | ~75% | 1 เท่า | 100–1,000 ปี | พลังงาน, ป่าไม้ |
CH₄ | ~16% | 25 เท่า | ~12 ปี | ปศุสัตว์, ขยะ |
N₂O | ~6% | 298 เท่า | ~114 ปี | ปุ๋ยเคมี |
F-Gases | <2% | 1,000–23,500 เท่า | หลายร้อย–พันปี | อุตสาหกรรม |
ถ้าไม่มี Greenhouse Gas (GHG) หรือ มีน้อยจนเกินไป โลกจะเป็นอย่างไร ?
หากไม่มี Greenhouse Gas (GHG) โลกจะได้รับความร้อนโดยตรงจากดวงอาทิตย์ ไม่มีการกักเก็บความร้อน พื้นผิวโลกจะร้อนจัดในเวลากลางวัน เมื่อความร้อนถูกปล่อยออกไป รังสีความร้อนจะกระจายออกนอกโลกเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เวลากลางคืนหนาวจัด อุณหภูมิบนโลกจะผันผวนอย่างรุนแรง จนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้
การมี Greenhouse Gas (GHG) ในปริมาณที่เหมาะสม โลกจะเป็นอย่างไร ?
เมื่อโลกได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ Greenhouse Gas (GHG) จะดูดซับความร้อนไว้ส่วนหนี่ง ส่วนที่เหลือจะส่งผ่านไปยังโลก เมื่อเกิดการคลายความร้อน Greenhouse Gas (GHG) ก็ดูดซับความร้อนไว้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็ส่งออกนอกโลก ทำให้อุณหภูมิบนโลกคงที่และเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต
การมี Greenhouse Gas (GHG) ในปริมาณที่มากเกินพอดี โลกจะเป็นอย่างไร ?
เมื่อโลกได้รับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ Greenhouse Gas (GHG) ที่สะสมอยู่ในปริมาณมากในชั้นบรรยากาศ จะทำให้การดูดซับและคลายความร้อนไม่สมดุลกัน ความร้อนจำนวนมากจะถูกกักเก็บไว้มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก และนี่ก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
การสะสมของ Greenhouse Gas (GHG) ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้สภาพอากาศในโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง Global Warming (ภาวะโลกร้อน) หมายถึงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์สุดขั้วมากมาย ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ฤดูกาลแปรปรวน พายุรุนแรงขึ้น ธารน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และการแพร่ระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้น ทั้งหมดนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศบนโลกใบนี้อย่างมาก
บริษัท แบ็กส์ แอนด์ โกล์ฟ ให้ความสำคัญกับ Greenhouse Gas (GHG) หรือก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างมาก โดยที่โรงงานผลิตของเรามี Project Net Zero คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ผ่านการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย